วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประวัติรังสีเทคนิคมหิดล1

พุทธศักราช 2441
     พระยาบำบัดสรรพโรค  นายแพทย์ใหญ่กองลหุโทษได้สั่งเครื่องเอกซเรย์เครื่องแรกเข้ามาในประเทศไทย  ในครั้งกระนั้นผู้ช่วยแพทย์ในการทำงานด้านเอกซเรย์ก็ได้อาศัยพยาบาลเป็นส่วนใหญ่โดยมีแพทย์เป็นผู้ฝึกหัดให้  ซึ่งก็ทำกันไปได้เนื่องจากงานยังมีไม่มากนัก  ต่อมาการใช้เครื่องเอกซเรย์เริ่มแพร่หลายและเริ่มมีบทบาทสำคัญต่อการวินิจฉัยและรักษาโรคมากขึ้น  เครื่องมือสำหรับใช้งานทั้งทางด้านรังสีวินิจฉัย  รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์  ถูกทยอยสั่งเข้ามาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ

พุทธศักราช 2505
การสำรวจของ WHO
  

อาจารย์นายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว
   องค์การอนามัยโลกได้ส่ง Mr.D.R.E. Ernborg  ผู้ชำนาญทางเอกซเรย์เข้ามาสำรวจในประเทศไทย  ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม พ.. 2505  ถึงวันที่ 4 กันยายน พ.. 2506  พบว่าในขณะนั้นประเทศไทยมีเครื่องเอกซเรย์ใช้มากกว่า 500 เครื่อง  แต่ยังไม่มีบุคลากรที่ได้รับการอบรมเฉพาะด้านรังสีเอกซ์เลย  จึงได้รายงานไว้ในรายงาน  WHO SEA/RAD/11 ว่า ควรจะได้มีการจัดตั้งโรงเรียนอบรมพนักงานวิทยาศาสตร์ในสาขารังสีเอกซ์ขึ้น  ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็ได้เสนอรายงานนี้ให้กับรัฐบาลไทย  รัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นสมควรให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ดำเนินการ  โดยผ่านทางกระทรวงสาธารณสุข  ศาสตราจารย์นายแพทย์ อำนวย  เสมรสุต  หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลในขณะนั้นได้ปรึกษากับศาสตราจารย์นายแพทย์วีกูล  วีรานุวัตติ์   คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์เห็นพ้องว่า  ควรทำเป็นโครงการร่วมระหว่างภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและคณะเทคนิคการแพทย์เพื่อจัดตั้งโรงเรียนรังสีเทคนิคขึ้น  โดยจัดให้มีการเรียนการสอนที่คณะเทคนิคการแพทย์   ส่วนสถานที่ฝึกปฏิบัติงานให้ดำเนินการในภาควิชารังสีวิทยา  จากนั้นจึงได้เสนอเรื่องไปทางมหาวิทยาลัย  และสภาการศึกษาแห่งชาติ  (ปัจจุบันคือคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติตามลำดับและได้รับอนุมัติให้ดำเนินการได้  ทางภาควิชารังสีวิทยาได้แต่งตั้งให้นายแพทย์สุพจน์   อ่างแก้ว  เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้  พร้อมกันนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกในโครงการ  Thailand project  71  โดยให้ทุนนายแพทย์สุพจน์  อ่างแก้ว  ไปดูงานด้านการจัดตั้งโรงเรียนในประเทศอังกฤษ

พุทธศักราช 2508
ตั้งโรงเรียนรังสีเทคนิค

     โรงเรียนรังสีเทคนิค  เริ่มจัดตั้งขึ้นในเดือนมกราคม โดยขึ้นกับสำนักงานเลขานุการคณะเทคนิคการแพทย์  ซึ่งนับได้ว่าเป็นโรงเรียนรังสีเทคนิคแห่งแรกในประเทศไทย  ในการดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนองค์การอนามัยโลกได้ส่ง  Mr Gordon W. Ward  ผู้เชี่ยวชาญทาง Radiography  มาเป็นที่ปรึกษา  พร้อมทั้งส่งอุปกรณ์ในการสอนมาให้จำนวนหนึ่ง  นักเรียนรุ่นแรกๆ มาจากนักศึกษาเทคนิคการแพทย์ซึ่งเรียนจบชั้นปีที่ 2 จากคณะวิทยาศาสตร์  และสมัครใจมาเรียนต่อชั้นปีที่ 3 และปีที่ในสาขารังสีเทคนิค  สถานที่เรียนในตอนนั้นกระจัดกระจายอยู่ตามตึกต่างๆ ภายในโรงพยาบาลศิริราชยังไม่มีสถานที่เรียนถาวรเช่นปัจจุบัน  โดยมีอาจารย์ประจำก็คือ  อาจารย์นายแพทย์สุพจน์  อ่างแก้ว  และอาจารย์มาลี  แปลกลำยอง  ส่วนอาจารย์พิเศษก็ได้คณาจารย์จากภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาช่วยสอนหลายท่านด้วยกัน  โดยหลักสูตรที่ใช้สอนนั้นเป็นหลักสูตรซึ่งได้ดัดแปลงมาจากหลักสูตรของประเทศอังกฤษ

ประวัติรังสีเทคนิคมหิดล2>>>



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น